จับตาโควิด XBB.1.16 ติดง่ายแถมหลบภูมิเก่ง ไทยมีคนป่วยเพิ่ม 2.5 เท่า
กรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์โควิด-19 หลังหมดสงกรานต์ พบผู้ป่วยเข้า รพ.เพิ่ม 2.5 เท่า จากสัปดาห์ก่อน เชื่อการระบาดที่เพิ่มขึ้นไม่กระทบ กับชีวิตของประชาชน ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 พบในไทย 6 คน เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นวัยทำงาน อาการไม่รุนแรง ยังไม่พบอาการเยื่อบุตาอักเสบในไทย เบื้องต้นยังไม่รุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ด้าน ผอ.รพ.รามาฯ แจงการออกจดหมายเวียนถึงมาตรการรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังพบแนวโน้มผู้ป่วยแอดมิตใน รพ.เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB เพิ่มขึ้นอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย LAAB
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยคลี่คลาย ทำให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมถึงออกมาทำกิจกรรมรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถาน การณ์โรคโควิด-19 ประจำสัปดาห์ที่ 15 ระหว่างวันที่ 9-15 เม.ย.2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วทั้งหมด 435 คน เฉลี่ยวันละ 62 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัปดาห์ก่อนหน้า ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อน ผู้เสียชีวิต 2 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว จึงขอย้ำให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ สถานบริการจะปรับการให้บริการรูปแบบวัคซีนโควิดประจำปีตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป
นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก พบเชื้อแล้วใน 22 ประเทศโดยเฉพาะประเทศอินเดีย มีความสามารถในการติดต่อสูงกว่าเชื้อสายพันธุ์ในอดีต และเป็นที่จับตาขององค์การอนามัยโลก แต่ข้อมูลขณะนี้พบว่าอาการไม่ได้รุนแรงเพิ่ม สำหรับประเทศไทย มีรายงานพบเชื้อนี้ในฐานข้อมูลโควิดโลก 6 คน
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 ในไทย จำนวน 6 คนนั้น เบื้องต้นพบว่า เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอยู่ในวัยทำงานและอาการป่วยไม่รุนแรง ส่วนอาการสำคัญของ XBB.1.16 ที่ประเทศอินเดียรายงานว่า มี “เยื่อบุตาอักเสบ” ยังไม่มีรายงานในผู้ป่วยที่พบในไทย อย่างไรก็ตาม อาการของโควิด-19 จะมีอาการตัวร้อน เป็นไข้บางรายจะมีอาการระคายเคืองตามใบหน้า หรือดวงตาได้ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า XBB.1.16 จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ส่วนการกลายพันธุ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทางกรมควบคุมโรคติดตามสถาน การณ์ต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และขอให้มารับวัคซีนโควิด ถ้าหากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน
นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่มีประชาชนออกมาเล่นน้ำจำนวนมากถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันมากที่สุด และมีความเสี่ยงสูงที่สุดแล้ว แต่เชื่อว่าการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์นั้น จะไม่กระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน จึงขอให้สังเกตอาการตนเองใน 7 วันหลังจากนี้ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สำหรับการตรวจ ATK สามารถตรวจเฉพาะตอนที่มีอาการป่วย
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าจากข้อมูลภาพรวมการระบาดของโอมิครอนในประเทศ ไทยในช่วง 30 วันล่าสุด ที่มีการส่งข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆในไทยที่ถอดรหัสพันธุกรรมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID ผ่าน Outbreak.info พบว่าสายพันธุ์หลักในประเทศไทยขณะนี้คือ XBB.1.5 ประมาณร้อยละ 47 รองลงมา คือ XBB.1.9.1 ร้อยละ 27 XBB.1.16 ร้อยละ 13 XBB.1.5.7 ร้อยละ 7 และ XBB.1.16.1 ร้อยละ 7 ทั้งนี้ XBB.1.16 เป็นตัวที่ทั่วโลกกำลังจับตาเนื่องจากมีการแพร่เร็ว ทั้งยังหลบหลีกภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีนได้ดี แต่ข้อมูลที่พบอาการทางคลินิกยังไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น แม้ติดเชื้อยังไม่มีใครล้มป่วยหนัก แม้แต่ที่ประเทศอินเดียที่มีการระบาดมาก แต่คนไข้อาการหนักไม่ได้เพิ่มมาก การนำเสนอข้อมูลต่างๆเพื่อให้เกิดความตระหนก และให้เกิดการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการหย่อนยาน เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นในปัจจุบัน ลักษณะการระบาดมีความถี่มากขึ้น อีกทั้งภาวะโลกร้อนทำให้วัฏจักรเกิดการเปลี่ยนแปลงไวรัสก็มีการเปลี่ยนแปลงจึงต้องระวัง อย่างไรก็ตาม หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วประเทศเกิดการเรียนรู้ เฝ้าระวัง มีนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงยา เวชภัณฑ์ วัคซีนเข้ามารองรับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเชื่อว่าหากเกิดอะไรขึ้นน่าจะเอาอยู่
ต่อมา รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายดูแลสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ถึงหนังสือของโรงพยาบาลรามาธิบดีเกี่ยวกับมาตรการรองรับกรณีโรคโควิด-19 ระบุว่า ให้เตรียมการรักษาหลังพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB เพิ่มขึ้น และอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูป หรือ LAAB ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือแจ้งภายในให้แพทย์ทราบถึงเชื้อโควิด-19 ที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ และเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีวันหยุดยาว ประชาชนรวมกลุ่มทำกิจกรรมกันมาก อาจมีการติดเชื้อและเข้ารับการรักษามากขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อม และข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ระบุว่า โควิดสายพันธุ์ลูกผสม XBB มีเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับแนวทางการรักษาให้สอดคล้อง แต่เชื้อไม่มีความรุนแรงหรือระบาดมากขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งก่อนเทศกาลสงกรานต์ รพ.รามาฯได้ยกเลิกวอร์ดโควิด และช่วงสงกรานต์มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ถึง 10 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว อาการไม่น่าเป็นห่วง อาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งวอร์ดโควิด เพียงแต่เตรียมพร้อมไว้ เช่น เพิ่มเตียง
เมื่อถามถึงสาเหตุที่ รพ.รามาธิบดีปรับแนวทางการรักษาโดยไม่ใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปและโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19 รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าการตอบสนองต่อยาไม่ดีพอ เพราะเชื้อเปลี่ยนไป ที่ผ่านมายาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพดีมาก แต่ตอนนี้เชื้อเปลี่ยนไป และสถานการณ์ก็ยังไม่ได้รุนแรง
ทั้งนี้ ในประกาศของ รพ.รามาธิบดี เรื่อง มาตรการรองรับกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 3-2566 ลงวันที่ 12 เม.ย.2566 ระบุถึงการปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และผู้มีอาการไม่รุนแรง ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยรักษาตามอาการ ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง ส่วนกรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกโดยให้ยาต้านไวรัสเรมดิซิเวียร์ และกรณีผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงให้รักษาแบบผู้ป่วยใน และใช้ยาเรมดิซิเวียร์ และยาอื่นๆตามดุลพินิจของแพทย์