Written by 9:40 am หมอพร้อม

ไวรัสกลายพันธุ์! หลัง 4 คนไทยใช้โมลนูพิราเวียร์

มีหนาว! ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาฯ เผยกำลังเกาะติดการกลายพันธุ์ของโควิด-19 จากการใช้ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ในคนไข้ 4 ราย ชี้ผลจิวัย ตปท.ทำให้กลายพันธุ์มาก

09 ก.พ.2566 – เพจ Center for Medical Genomics หรือศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์รูปหรือเนื้อหาระบุว่า ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดีเริ่มติดตามการกลายพันธุ์จำเพาะบนจีโนมโควิด-19 อันเนื่องมาจากการใช้ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ประเทศไทยขณะนี้พบ 4 ราย

ยาโมลนูพิราเวียร์ (MoInupiravir) เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ออกฤทธิ์ต้านไวรัส เดิมพัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่

ต่อมาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์ สามารถออกฤทธิ์ต่อต้านไวรัสโคโรนาหลายชนิด เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ส และเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19

หากให้ยาโมลนูพิราเวียร์ ในช่วงระยะต้นของการติดเชื้อ จะลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลดอัตราการป่วยหนัก ลดความเสี่ยงการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิตลงได้ประมาณร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ยา

ยาโมลนูพิราเวียร์ ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศไทยในปลายปี 2564 และในออสเตรเลียในต้นปี 2565

ตัวยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบโครงสร้างบางส่วนของอาร์เอ็นเอซึ่งเป็นสารพันธุกรรมในไวรัสโคโรนา-2019 ทำให้จีโนมของไวรัสเกิดการกลายพันธุ์กระจัดกระจายจนไม่สามารถแบ่งตัวแพร่ระบาดใน(เซลล์)มนุษย์อีกต่อไปได้

แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเริ่มกังวลว่าในผู้ป่วยบางรายการรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์อาจไม่สามารถกำจัดไวรัสโคโรนา-2019 ให้หมดไปจากร่างกายได้ภายใน 5 วัน ทำให้อาจกระตุ้นให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์อันเนื่องมาจากยาโมลนูพิราเวียร์

ดร. ธีโอ แซนเดอร์สัน จากสถาบันฟรานซิส คริก ลอนดอน และทีมวิจัยจากสหราชอาณาจักรได้โพสต์บทความบนเซิร์ฟเวอร์ของ “medRxiv” ในเดือนมกราคม 2566 (ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ) แสดงให้เห็นว่าจากการตรวจกรองรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมกว่า 13 ล้านตัวอย่างจากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ในปี 2565 ที่มีการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย พบรหัสพันธุกรรมของโควิด-19 จากหลายประเทศมีการกลายพันธุ์ในลักษณะที่จำเพาะที่บ่งชี้ว่าผู้ติดเชื้อได้รับประทานยาโมลนูพิราเวียร์ โดยพบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มเล็ก(cluster) การกลายพันธุ์จำเพาะที่ว่าคือมีอัตรา G-to-A และ C-to-T สูงขึ้นเทียบกับผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษา

การกลายพันธุ์ในลักษณะจำเพาะ (มีอัตรา G-to-A และ C-to-T สูงขึ้น) พบในประเทศที่มีการอนุญาตใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และไทย มากกว่าประเทศที่ไม่อนุมัติให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ เช่น ฝรั่งเศสและแคนาดา อย่างมีนัยสำคัญ

ประเทศที่มีการอนุมัติให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์
• ออสเตรเลีย พบการกลายพันธุ์จำเพาะ (อันเกิดจากการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์) 97 ราย จากตัวอย่าง(ที่อัปโหลดไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID”) ทั้งสิ้น 119,194 ราย
• สหรัฐอเมริกา พบการกลายพันธุ์จำเพาะ 60 ราย จากตัวอย่างทั้งสิ้น 1,911,997 ราย
• สหราชอาณาจักร พบการกลายพันธุ์จำเพาะ 23 ราย จากตัวอย่างทั้งสิ้น 1,218,724 ราย
• ญี่ปุ่น พบการกลายพันธุ์จำเพาะ 20 ราย จากตัวอย่างทั้งสิ้น 321,520 ราย
• เยอรมนี พบการกลายพันธุ์จำเพาะ 10 ราย จากตัวอย่างทั้งสิ้น 503,014 ราย
• อิสราเอล พบการกลายพันธุ์จำเพาะ 9ราย จากตัวอย่างทั้งสิ้น 107,477 ราย
• ไทย พบการกลายพันธุ์จำเพาะ 4 ราย จากตัวอย่างทั้งสิ้น 21,459ราย
ฯลฯ
ประเทศที่ไม่อนุมัติให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์
• ฟินแลนด์ พบการกลายพันธุ์จำเพาะ 0 ราย จากตัวอย่างทั้งสิ้น 17,978 ราย
• ฝรั่งเศส พบการกลายพันธุ์จำเพาะ 0 ราย จากตัวอย่างทั้งสิ้น 313,680 ราย
ฯลฯ

เชื้อโควิดกลายพันธุ์จำเพาะพบมากในผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มที่จะรับประทานโมลนูพิราเวียร์มากกว่าคนหนุ่มสาวและคนวัยกลางคน และในออสเตรเลียซึ่งมีโมลนูพิราเวียร์ไว้ใช้ในบ้านพักคนชราพบไวรัสกลายพันธุ์จำเพาะถึง 25 ตำแหน่งโดยพบการแพร่ติดเชื้อในกลุ่มคนอย่างน้อย 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุอยู่ในวัย 80 และ 90 ปี

สรุปได้ว่าการรักษาด้วยโมลนูพิราเวียร์ทำให้ไวรัสเกิดกลายพันธุ์ไปอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่จีโนมจะเสียหายไม่สามารถระบาดสืบทอดลูกหลานต่อไปได้ แต่ยังมีส่วนน้อยที่แม้จีโนมมีการกลายพันธุ์ไปมากแต่ยังสามารถแพร่ระบาดได้ในวงจำกัด ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าโควิด-19 กลายพันธุ์จากยา โมลนูพิราเวียร์จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันหรือมีการติดเชื้อรุนแรงหรือไม่

ข้อควรระวัง ผู้วิจัยใช้การสันนิษฐานว่าการกลายพันธุ์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการรักษาด้วยโมลนูพิราเวียร์ แต่ข้อมูลจากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ส่วนหนึ่งจะไม่มีข้อมูลว่าผู้ติดเชื้อโควิดรักษาด้วยยาต้านไวรัสหรือไม่ และเป็นประเภทใด

แชร์มาจาก: thaipost

(Visited 61 times, 1 visits today)
Close