หลัง กทม. ถูกฝนถล่มหนักตลอดคืนจนทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด เขตที่พบปัญหามากที่สุดคือ เขตจตุจักร ช่วง ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นอับดับหนึ่งของจุดเสี่ยง “น้ำท่วม” สูงที่สุดในกรุงเทพฯ
จากสถานการณ์ฝนตกหนักในคืนวันที่ 20 ก.ค. 65 ตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงช่วงเช้ามืดของวันที่ 21 ก.ค. 65 ทั่วบริเวณกรุงเทพมหานคร ทำให้หลายเขตใน กทม. เกิด “น้ำท่วม” หลายจุดตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงเช้ามืด
ส่งผลให้การจราจรตามถนนสายหลักต่างๆ ติดขัดจนถึงขั้นอัมพาต รวมถึงมีประชาชนตกค้างอยู่ที่ป้ายรถโดยสารสาธารณะเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตจตุจักรที่เป็นเขตเสี่ยงน้ำท่วมสูงสุดของ กทม.
จากทั้งหมด 50 เขต ของ กทม. เขตไหนเรียกได้ว่าเป็น จุดเสี่ยง “น้ำท่วม” สูงสุดในกทม. รวมถึงตรวจเช็กปริมาณน้ำฝนและสถานการณ์น้ำในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงมรสุมเพื่อเตรียมตัวรับมือ
ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ทำรายงานสรุปไว้ว่า กทม. มีจุดเสี่ยง “น้ำท่วม” ทั้งหมด 12 จุด จากทั้งหมด 8 เขต แต่เขตหลักที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง สามารถแบ่งออกได้ 5 เขต ดังนี้
เปิด 5 เขต กทม. เสี่ยงน้ำท่วมสูงสุด
1. เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ
ปัญหาของเขตจตุจักรอย่างหนึ่ง คือ บริเวณช่วงสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ประกอบกับมีถนนบางช่วงที่มีการปรับปรุงพื้นถนน ประกอบกับมีชุมชนริมคลองค่อนข้างมาก ทำให้มีความแออัดและระบายน้ำได้ยาก
2. เขตบางซื่อ ถนนประชาราษฎร์สาย 2 บริเวณแยกเตาปูน
เนื่องจากช่วงแยกเตาปูนอยู่ใกล้กับคลองประปา และมีพื้นที่เขตบางส่วนเชื่อมต่อกับเขตจตุจักร ทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังขยายมาถึงบริเวณนี้ด้วย
3. เขตหลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงคลองประปา-คลองเปรมฯ
จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังในเขตนี้คือ บริเวณตั้งแต่ช่วงคลองประปา ถึงคลองเปรมประชากร เนื่องจากมีคลองถึง 2 สาย และมีการซ่อมถนนในบางช่วง ทำให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ง่าย
4. เขตดุสิต ถนนราชวิถี เชิงสะพานซังฮี้
บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธนบุรี (สะพานซังฮี้) เนื่องจากอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับปัญหาน้ำท่วมขัง
5. เขตราชเทวี ถนนพญาไท บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์
บริเวณนี้เป็นพื้นที่ในเขตเมืองที่มีตึกอาคารหนาแน่น การระบายน้ำไม่สะดวก เมื่อมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายชั่วโมงจึงเกิดน้ำท่วมขังได้ง่าย
โดยสรุปแล้ว กทม. มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 จุด แบ่งเป็นฝั่ง “พระนคร” 9 จุดใน 6 เขต และฝั่ง “ธนบุรี” 3 จุดใน 2 เขต โดยในปี 2565 กทม. วางเป้าหมาย ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้เหลือ 8 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมให้ลดลงเหลือ 36 จุด
แม้ว่าทางกรุงเทพมหานครจะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของการระบายน้ำออกช้าคือ ขยะ ที่ติดอยู่ตามท่อระบายน้ำและตามคูคลองต่างๆ ของ กทม. ที่สะสมเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมในกรุงเทพฯ
สำหรับสถานการณ์น้ำของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงนี้ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. และมีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก ที่สำนักการระบายน้ำรับผิดชอบ จำนวน 26 รายการ น้ำเเห้งปกติจำนวน 21 รายการ คงเหลือ 5 รายการ
อ้างอิงข้อมูล : กรมชลประทาน และ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร