กรมควบคุมโรคชี้แจงพบโควิดพันธุ์ XBB.1.16 มาจากต่างประเทศ แต่อาการไม่รุนแรง อย่าตื่นตระหนก ขอให้มารับวัคซีนหากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 ในไทย จำนวน 6 ราย นั้น ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อยู่ในวัยทำงาน และอาการป่วยไม่รุนแรง ส่วนอาการสำคัญของ XBB.1.16 ที่ประเทศอินเดียรายงานว่ามี “เยื่อบุตาอักเสบ” ยังไม่มีรายงานในผู้ป่วยที่พบในไทย อย่างไรก็ตามอาการของโควิดที่เรารู้ว่ามีอาการตัวร้อน เป็นไข้ บางรายจะมีอาการระคายเคืองตามใบหน้า หรือดวงตาได้
“ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า XBB.1.16 จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ส่วนการกลายพันธุ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทางกรมควบคุมโรคก็ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ขอให้มารับวัคซีนโควิด ถ้าหากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน”
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่าสำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่มีประชาชนออกมาเล่นน้ำจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันมากที่สุด มีความเสี่ยงสูงที่สุดแล้ว แต่เชื่อว่าการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์ นั้น จะไม่กระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน จึงขอให้สังเกตอาการตนเองใน 7 วันหลังจากนี้ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิด กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สำหรับการตรวจ ATK สามารถตรวจเฉพาะตอนที่มีอาการป่วย
ทางด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าจากข้อมูลภาพรวมการระบาดของโอมิครอนในประเทศไทยในช่วง 30 วันล่าสุด ที่มีการส่งข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ในไทยที่ถอดรหัสพันธุกรรมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID ผ่าน Outbreak.info ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า สายพันธุ์หลักในประเทศไทยขณะนี้คือ XBB.1.5 ประมาณ 47% รองลงมาคือ XBB.1.9.1 ประมาณ 27% XBB.1.16 ประมาณ 13% XBB.1.5.7 ประมาณ 7% และ XBB.1.16.1 ประมาณ 7%
ทั้งนี้ XBB.1.16 เป็นตัวที่ทั่วโลกกำลังจับตาเนื่องจากมีการแพร่เร็ว ทั้งยังหลบหลีกภุูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีนได้ดี แต่ข้อมูลที่พบอาการทางคลินิกยังไม่ต่างจากสายพันธ์ุอื่น แม้ติดเชื้อยังไม่มีใครล้มป่วยหนัก แม้แต่ที่อินเดียที่มีการระบาดมาก แต่คนไข้อาการหนักไม่ได้เพิ่มมาก การนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดความตระหนัก และให้เกิดการเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดการหย่อนยาน เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นในปัจจุบัน ลักษณะการระบาดมีความถี่มากขึ้น อีกทั้งภาวะโลกร้อนทำให้วัฎจักรเกิดการเปลี่ยนแปลง ไวรัสก็มีการเปลียนแปลง จึงต้องระวัง อย่างไรก็ตามหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วประเทศเกิดการเรียนรู้ เฝ้าระวัง มีนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงยา เวชภัณฑ์ วัคซีนเข้ามารองรับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเชื่อว่าหากเกิดอะไรขึ้นน่าจะเอาอยู่
แชร์มาจาก: dailynews