Written by 8:40 pm ข่าวสาร

“แผ่นดินไหวตุรกี” ทำไมเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรง?

นับตั้งแต่ปี 1900 ตุรกีประสบเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงเกิน 5.0 แมกนิจูดและทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นราว 60 ครั้ง หรือเฉลี่ย 2 ปีต่อครั้ง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เรียกได้ว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติที่จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ สำหรับเหตุแผ่นดินไหวในตุรกีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยความรุนแรงอยู่ที่ 7.8 แมกนิจูด หรือรุนแรงเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของประเทศ นับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลมา

จุดศูนย์กลางการสั่นสะเทือนอยู่ใกล้กับเมืองกาซีอันเตป (Gaziantep) บริเวณตอนใต้ของประเทศ ใกล้กับชายแดนซีเรีย และสะเทือนไปถึงเลบานอน ซีเรีย อิสราเอล ไซปรัส และกรีซ

ล่าสุด ณ เวลา 14.00 น. ของวันที่ 7 ก.พ. มีรายงานพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4,800 รายในตุรกีและซีเรีย และคาดว่าตัวเลขจะยังคงพุ่งสูงมากกว่านี้อีก

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แผ่นดินไหว เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก เมื่อมันไปชน เสียดสี หรือซ้อนกัน และตุรกีได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวได้ง่ายที่สุดในโลก ก็เพราะว่ามันตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลียน (Anatolian Plate)

แผ่นเปลือกโลกดังกล่าวอยู่ติดกับรอยเลื่อน (Fault) ที่สำคัญ 2 แห่ง คือ รอยเลื่อนอนาโตเลียเหนือ ซึ่งทอดตัวจากตุรกีตะวันตกไปตะวันออก และรอยเลื่อนอนาโตเลียตะวันออก ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ รวมถึงอยู่ใกล้กับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย แอฟริกา และอาราเบีย

สำหรับเหตุแผ่นดินไหวล่าสุดนี้ แมทธิว คัปปุชชี นักอุตุนิยมวิทยาซึ่งทำงานให้กับสื่อดัง Washington Post รายงานว่า เกิดขึ้นบริเวณรอยเลื่อนอนาโตเลียตะวันออก จากการเสียดสีกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลีย กับแผ่นเปลือกโลกอาราเบีย

โดยสรุปแล้วก็คือ ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศตุรกีนั้นอยู่ในจุดที่พร้อมจะเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลาหากมีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก จนถึงขนาดมีคำกล่าวในตุรกีว่า “coğrafya kaderdir” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ภูมิประเทศเป็นตัวกำหนดโชคชะตา”

ในช่วงประมาณ 120 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1900 ตุรกีประสบเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงเกิน 5.0 แมกนิจูดและทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นราว 60 ครั้ง หรือเฉลี่ย 2 ปีต่อครั้ง และมีหลายครั้งที่รุนแรงในระดับที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในหลักพันถึงหลายหมื่นราย ซึ่งนิวมีเดีย พีพีทีวี ได้รวบรวมไว้ที่นี่แล้ว

แผ่นดินไหวครั้งหายนะที่สุดในตุรกี ทั้งในแง่ของระดับความรุนแรงและตัวเลขผู้เสียชีวิต คือเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 1939 ที่เมืองเอร์ซินจาน (Erzincan) ทางตะวันออกของตุรกี โดยครั้งนั้นเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงถึง 8.0 แมกนิจูด เป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงเป็นอันดับ 1 ในประวัติศาสตร์ของประเทศ และทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 32,968 ราย บาดเจ็บอีกนับแสนคน และอาคารบ้านเรือนพังเสียหายมากกว่า 160,000 แห่ง

ถัดมาคือภัยพิบัติเมื่อเดือน พ.ย. 1976 ที่ภูมิภาคชาลดิรัน-มูราเดีย (Çaldıran–Muradiye) ทางตะวันออกของประเทศ ติดชายแดนอิหร่าน เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูด จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ระหว่าง 4,000-5,000 ราย

อีกหนึ่งแผ่นดินไหวที่รุนแรงไม่แพ้กันเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 1944 ช่วงเวลาคล้ายกับเหตุแผ่นดินไหวล่าสุด แต่ครั้งนั้นเกิดขึ้นที่ภูมิภาคโบลู–เกเรเด (Bolu–Gerede) ทางเหนือของประเทศ ด้วยความรุนแรง 7.5 แมกนิจูด มีผู้เสียชีวิต 3,959 ราย

ขณะที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน ได้เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองทอสยา-ลาดิก (Tosya-Ladik) ในเดือน ธ.ค. 1943 ด้วยความรุนแรง 7.5 แมกนิจูด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 2,800-5,000 ราย

ทั้งนี้ จากตัวเลขผู้เสียชีวิตเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในปี 2023 นี้ องต์การอนามัยโลกประเมินว่า อาจสูงกว่าตัวเลขจณะนี้หลายเท่าตัว หรือพุ่งทะลุหลัก 20,000 ราย ซึ่งหากตัวเลขสุดท้ายออกมาตามการคาดการณ์ จะทำให้เหตุการณ์นี้เป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงสุดเป็นอันดับ 2 ของประวัติศาสตร์ตุรกี ทั้งในเชิงระดับความรุนแรงและตัวเลขผู้เสียชีวิต

อย่างไรก็ดี แม้ตุรกีจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เผชิญกับแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แต่ตุรกีก็ไม่ได้มีความพร้อมในการรับมือกับแผ่นดินไหวในอนาคตเลยแม้แต่น้อย โดยอาคารหลายแห่งในหลายเมืองทั่วประเทศ ไม่ได้สร้างขึ้นตามมาตรฐานความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว บ้านหลายหลังสร้างโดยไม่มีการควบคุมดูแลและใช้วัสดุก่อสร้างคุณภาพต่ำ แม้จะมีกฎหมายบังคับใช้ก็ตาม

ภาพจาก AFP

แชร์มาจาก: PPTVHD

(Visited 49 times, 1 visits today)
Close