Written by 2:28 am ข่าวสาร, โควิดวันนี้

ตัวดื้อต่อภูมิฯ มากสุดในทุกสายพันธุ์โควิดที่เคยมีมา! “XBB.1.5”

  • องค์การอนามัยโลก ประเมินว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นี้ มีแนวโน้มที่จะระบาดมากขึ้นทั่วโลกได้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ติดตามความรุนแรงอย่างใกล้ชิด โดยใช้ทั้งข้อมูลที่ศึกษาในห้องปฏิบัติการ และข้อมูลของสถานการณ์การระบาดจริง ในการพิจารณาหาทางรับมือและป้องกัน
  • ข้อมูลปัจจุบันชี้ชัดว่า XBB.1.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุดในทุกสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่เคยมีมา โดย XBB.1.5 นั้นดื้อเทียบเท่ากับสายพันธุ์ XBB.1 ส่วนในแง่ความรุนแรงนั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ
  • หมอชี้ภูมิต้านทานจากการติดเชื้อโควิด หรือการฉีดวัคซีน ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ อาจเกิดการติดเชื้อซ้ำขึ้นได้ แต่ความรุนแรงควรจะลดน้อยลง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่ข้อมูลประเมินความเสี่ยงของการระบาดจาก XBB. ที่ผ่านมาว่า มีรายงานการตรวจพบทั่วโลกแล้วเกือบ 40 ประเทศ (นับตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.65 – 11 ม.ค.66) โดยประเทศที่ส่งรายงานการตรวจพบมาก 3 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก พบว่าสหรัฐอเมริกามีอัตราการขยายตัวของการแพร่ระบาดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ส่วนที่น่าจับตา คือ อัตราการขยายตัวของการระบาดในสหรัฐฯ นั้นสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสัปดาห์ละ 1% (ณ สัปดาห์ที่ 47) เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 8% (ณ สัปดาห์ที่ 50) ภายใน 3 สัปดาห์เท่านั้น โดยมีการแพร่ระบาดมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

โดย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ประมาณการว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ XBB และ XBB.1.5 เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ คิดเป็น 44.1% นับจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. เพิ่มจากช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้นซึ่งอยู่ที่ 25.9%

ทั้งนี้ “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นี้ เป็นลูกหลานในตระกูล XBB ซึ่งข้อมูลปัจจุบันชี้ชัดว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุดในทุกสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่เคยมีมา โดย XBB.1.5 นั้นดื้อเทียบเท่ากับสายพันธุ์ XBB.1 ส่วนในแง่ความรุนแรงของโรคนั้นยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าจะรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่ระบาดอยู่หรือไม่ แต่องค์การอนามัยโลกประเมินว่า สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นี้ มีแนวโน้มที่จะระบาดมากขึ้นทั่วโลกได้ในอนาคต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด!!!

พบ XBB 1.5 ลามระบาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” โดยระบุข้อความไว้น่าสนใจว่า แอบมองสายพันธุ์ที่นำการระบาดในแต่ละประเทศ โดยรวมแล้วสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลกตอนนี้ สายพันธุ์ย่อย BQ.1.1 ยังคงครองสัดส่วนการระบาดที่สูงสุด แต่พบว่า XBB.1.5 ที่มีการระบาดขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากอเมริกา ซึ่งตอนนี้มีการระบาดไปแล้ว 38 ประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีประเทศที่มีสายพันธุ์ย่อยที่ครองการระบาดในประเทศที่จำเพาะ เช่น

  • ภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และฟิลิปปินส์
  • ภูมิภาคโอเชียเนีย ได้แก่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
  • ภูมิภาคยุโรป ได้แก่ รัสเซีย

หมอธีระ ระบุอีกว่า ทีมงานจาก The Sato Lab ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อคืนนี้ 15 ม.ค. 66 พิสูจน์ให้เห็นว่า XBB.1.5 นั้น ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.5 ราว 10 เท่า และมากกว่า BA.2 ราว 20 เท่า นอกจากนี้จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่า XBB.1.5 ติดเชื้อสู่เซลล์ได้ง่ายกว่า XBB.1 ราว 3 เท่า และหากประเมินสมรรถนะของไวรัสสายพันธุ์ XBB.1.5 ในการแพร่จากคนติดเชื้อไปยังผู้อื่น พบว่าจะแพร่ได้มากกว่า XBB.1 ราว 20% ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานจาก หน่วยงานควบคุมป้องกันโรคของยุโรป (ECDC) ได้ประเมินไว้เมื่อ 13 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยเรานั้น หมอธีระ ระบุว่า จำเป็นต้องใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน เรียน หรือเดินทางท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง และป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หลังเปิดกิจกรรมท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ มีโอกาสที่จะเกิดระบาดปะทุขึ้นได้ ดังที่เห็นจากต่างประเทศ และหากปะทุขึ้น ลักษณะที่จะเกิดย่อมขึ้นกับสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ว่าเข้ามาในแต่ละพื้นที่มากน้อยเพียงใดในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น BQ.1.1, XBB.1.5, CH.1.1 หรืออื่นๆ

“การติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อลองโควิด (Long COVID) ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด และการใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก”

เมื่อติดเชื้ออาการรุนแรงหรือไม่? อะไรคือความกังวลในการระบาด

องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า เมื่อติดเชื้อ XBB.1.5 แล้วจะมีความรุนแรงมากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่ระบาดอยู่หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีตัวบ่งชี้ว่าระดับความรุนแรงของไวรัสจะเปลี่ยนไป แต่ความเร็วของการระบาดที่เพิ่มขึ้นต่างหากเป็นสิ่งที่น่า “กังวล” มากกว่า

นอกจากนี้ หากอนาคตอาจมีการระบาดระลอกใหม่ๆ ทั่วโลก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเสียชีวิตระลอกใหม่เกิดขึ้น เนื่องจากหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนและมีการบำบัดรักษาที่ดีขึ้น เพื่อรับมือในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นจึงยังไม่มีเหตุผลให้ต้องกังวลว่า XBB.1.5 จะรุนแรงกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่องในปัจจุบันนี้

การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด ทำให้ความรุนแรงโรคลดลง

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเรื่อง “โควิด-19 การติดเชื้อซ้ำ” โดยระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อมีการติดเชื้อแล้วหรือฉีดวัคซีนแล้ว ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้แบบสมบูรณ์ จึงเกิดการติดเชื้อซ้ำขึ้นได้ อย่างไรก็ตามเมื่อร่างกายเรามีภูมิต้านทานเป็นบางส่วน การติดเชื้อซ้ำ ความรุนแรงควรจะลดน้อยลง

นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้ความรุนแรงโรคโควิด-19 ลดลงมาโดยตลอด ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ตามสายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ถึงปีที่ผ่านมาเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ความรุนแรงของโรคยิ่งลดลงกว่าเดิม ทั้งสายพันธุ์ที่เปลี่ยนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้ ความรุนแรงจะลดลง

แชร์มาจาก: ไทยรัฐ

(Visited 26 times, 1 visits today)
Close