Written by 11:26 am ข่าวสาร

ต้องทำอย่างไร! เมื่อ “สิทธิบัตรทอง” ยกเลิกสัญญา

สปสช. หารือจัดระบบดูแลประชาชน “สิทธิบัตรทอง” หลังยกเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชน หาหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่ม ประกาศ 10 ต.ค.65 ให้ประชาชนสิทธิว่างจาก 9 รพ.เอกชนเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิแห่งใหม่ได้ พร้อมหา รพ.รับส่งต่อมาเพิ่ม หลัง รพ.แต่ละสังกัดมารับดูแลช่วง 3 เดือนนี้

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ พร้อมทั้ง โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประชุมการจัดระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ที่มีโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และรับส่งต่อทั่วไป 

ตามที่ สปสช.ได้มีการยกเลิกสัญญาการให้บริการปฐมภูมิ ประจำ และรับส่งต่อทั่วไปกับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามข้อกฎหมายจากปัญหาการเบิกจ่ายค่าบริการไม่ถูกต้อง นั้น พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ พญ.ปิยะธิดา หาญสมบูรณ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ได้ข้อสรุปว่า ในส่วนของการหาหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำแห่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญา รพ.เอกชน 9 แห่ง

ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปจะกลายเป็นสิทธิว่าง ได้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการใหม่นั้น สปสช. และสำนักอนามัย จะร่วมจัดทำบัญชีเครือข่ายหน่วยบริการให้ประชากรสิทธิว่างเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยศูนย์บริการสาธารณสุข ยินดีเป็นหน่วยบริการประจำ โดยขอให้ สปสช.จัดหาคลินิกชุมชนอบอุ่นมาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มเติมเพื่อดูแลประชาชน และได้กำหนดให้ประชาชนเริ่มลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำแห่งใหม่ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

"สิทธิบัตรทอง" 9 รพ. ยกเลิกสัญญา เลือกหน่วยบริการใหม่ 10 ต.ค.นี้

ทั้งนี้ สปสช.จะจัดทำบัญชีเครือข่ายหน่วยบริการให้ประชาชนได้เลือก โดยสามารถเข้าไปดูรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ สปสช. เพื่อเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำแห่งใหม่ของตน หรือโทร.สอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะระบุหน่วยบริการใกล้บ้านให้ประชาชนเลือกลงทะเบียนได้ หรือดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. และไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso ได้เช่นกัน 

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดหาหน่วยบริการแห่งใหม่มาเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อนั้น การหารือในวันนี้ ได้ข้อสรุปว่าในช่วงระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้

  • ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.มเหสักข์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เลิดสินและ รพ.ตากสินแทน,
  • ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.กล้วยน้ำไท เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เจริญกรุงประชารักษ์แทน
  • ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.บางนา 1 เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เดอะซีพลัสแทน
  • ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.นวมินทร์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.นพรัตน์ราชธานีแทน
  • ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.เพชรเวช เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.คลองตันและ รพ.กลางแทน
  • ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.ประชาพัฒน์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ไอเอ็มเอช ธนบุรี แทน
  • ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.แพทย์ปัญญา เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.สิรินธร รพ.ราชวิถี รพ.กลาง และ รพ.เดอะซีพลัส แทน
  • ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.บางมด เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ราชพิพัฒน์แทน

“สำหรับ รพ.รับส่งต่อนั้น ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนต่อจาก สปสช.จะหา รพ.รับส่งต่อแห่งใหม่มาเพิ่มอีก เพื่อดูแลผู้มีสิทธิบัตรทอง และจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง” พญ.ลลิตยา กล่าวและว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาและตรวจติดตามอาการต่อเนื่องนั้น สามารถไปรับยาและรับการรักษาได้ตามที่สถานพยาบาลที่ สปสช.ได้แจ้งให้ทราบแล้ว

โดยดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สปสช. นอกจากนั้นผู้ป่วยที่มีนัดรักษาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปที่ รพ.กล้วยน้ำไท รพ.ประชาพัฒน์ และ รพ.บางมด ยังคงไปรับการรักษาได้เหมือนเดิมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยทั้ง 3 รพ.ยินดีรับดูแลผู้ป่วยต่อในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้

"สิทธิบัตรทอง" 9 รพ. ยกเลิกสัญญา เลือกหน่วยบริการใหม่ 10 ต.ค.นี้
(Visited 133 times, 1 visits today)
Close