Written by 12:27 pm ข่าวสาร

‘WHO’ เตือนฝีดาษลิงระบาดทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

‘WHO’ เตือนฝีดาษลิงระบาดหนักทั่วโลก ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในอิสราเอลและยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดการระบาดของเชื้อฝีดาษลิงในประเทศเหล่านี้ได้อย่างไร

 “WHO” คาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นในอีกหลายประเทศ แต่ยืนยันว่าโรคนี้ไม่ได้แพร่ระบาดง่ายเหมือนโควิด-19 เพราะติดเชื้อผ่านการสัมผัสร่างกายโดยตรงเท่านั้น

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เปิดเผยว่ากำลังเฝ้าติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่เคยพบการติดเชื้อมาก่อน ซึ่งคาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอีกหลายประเทศ 

ตัวเลขล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 92 ราย และอีก 28 ราย ที่ยังเฝ้าติดตามอาการอยู่ ซึ่งผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ใน 12 ประเทศ ทั้งในยุโรป สหรัฐแคนาดา และออสเตรเลีย ซึ่งไม่เคยพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงมาก่อน โดยประเทศล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อคืออิสราเอล ขณะนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดการระบาดของเชื้อฝีดาษลิงในประเทศเหล่านี้ได้อย่างไร

ดับเบิลยูเอชโอ เตือนว่าจากข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ พบว่าผู้ติดเชื้อมาจากการที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ซึ่งดับเบิลยูเอชโอ เตรียมจะออกคำแนะนำและแนวทางรับมือเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อฝีดาษลิง 

อย่างไรก็ตาม ดับเบิลยูเอชโอ ยืนยันว่า เชื้อฝีดาษลิงไม่ได้แพร่กระจายง่ายเหมือนโควิด เพราะติดเชื้อได้ผ่านการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการโดยตรงเท่านั้น

โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัส เริ่มพบการระบาดในทวีปแอฟริกา อาการป่วยคล้ายโรคไข้ทรพิษในคน แต่อาการน้อยกว่า ส่วนใหญ่มีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นตามผิวหนังเริ่มจากใบหน้าก่อนลามไปส่วนอื่นๆ และกลายเป็นตุ่มหนอง และจะหายได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ โรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ๆ โดยเชื้อแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือ เลือดของผู้ป่วย หรือ ตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ดับเบิลยูเอชโอได้จัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือมาตรการรับมือโรคฝีดาษลิง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่พบในแถบแอฟริกากลางและตะวันตก หลังมีรายงานพบผู้ป่วยในทวีปยุโรปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ราย

ด้านทางการเยอรมนี ระบุว่า นี่อาจเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดของฝีดาษลิงในยุโรป โดยขณะนี้พบผู้ป่วยแล้วในอย่างน้อย 9 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร ส่วนที่ สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย ก็เริ่มพบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ด้วยเช่นกัน

ขณะที่สเปน ยืนยันพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น 24 รายในวันศุกร์(20พ.ค.) โดยเฉพาะในเขตกรุงมาดริด ซึ่งทางการได้สั่งปิดห้องซาวนาแห่งหนึ่งที่พบว่าเชื่อมโยงกับเคสผู้ป่วยหลายราย

ส่วนที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอิสราเอลแจ้งว่ากำลังให้การรักษาชายวัย 30 ปีเศษ ซึ่งเริ่มแสดงอาการคล้ายกับโรคฝีดาษลิง หลังเดินทางกลับจากยุโรปตะวันตกได้ไม่กี่วัน

อย่างไรก็ตาม การพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในกว่า 10 ประเทศครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่ากังวล เนื่องจากไวรัส ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในลิงมักจะแพร่เชื้อในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด และแทบไม่เคยมีการระบาดนอกทวีปแอฟริกามาก่อน

แต่นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าโรคนี้จะไม่ลุกลามขยายวงกว้างจนกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemic) แบบโควิด-19 เนื่องจากไวรัสตัวนี้ไม่ได้แพร่กระจายได้ง่ายเหมือน SARS-COV-2  โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ ปวดหัว และมีผื่นขึ้นตามลำตัว โดยเริ่มจากบริเวณใบหน้า ก่อนจะกระจายไปทั่วทุกส่วนของร่างกายแต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง แต่มีข้อมูลจากดับเบิลยูเอชโอว่า วัคซีนที่ใช้ต่อต้านโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (smallpox) ให้ผลในการป้องกันฝีดาษลิงได้สูงสุด 85%

“ฮันส์ คลูจ” ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ ประจำภูมิภาคยุโรป เตือนว่า จำนวนผู้ป่วยฝีดาษลิงอาจเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า และไวรัสมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปทั่วยุโรป

“เรากำลังก้าวเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งมักจะมีการจัดกิจกรรมรวมคน เทศกาล และงานปาร์ตี้ต่างๆ ผมจึงเกรงว่าอัตราการแพร่เชื้ออาจจะเพิ่มสูงขึ้น” คลูจ กล่าว

ดับเบิลยูเอชโอ ตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดของฝีดาษลิงครั้งนี้มีความผิดปกติอยู่ 3 ประการคือ 1.ผู้ป่วยเกือบทุกรายไม่มีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ซึ่งมีการระบาดของฝีดาษลิง 2. ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักชาย ซึ่งเมื่อแสดงอาการป่วยจึงไปพบหมอที่คลินิกรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ 3. การพบผู้ติดเชื้อในกว่า 10 ประเทศแสดงให้เห็นว่าโรคมีการแพร่กระจายมาระยะหนึ่งแล้ว

แชร์มาจาก: กรุงเทพธุรกิจ

(Visited 324 times, 1 visits today)
Close